วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ในช่วงเวลากึ่งล็อคดาวน์แบบนี้ อาการปวดทางกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อแบบไหน ที่ควรพบแพทย์

 

ในช่วงเวลากึ่งล็อคดาวน์แบบนี้ อาการปวดทางกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อแบบไหน ที่ควรพบแพทย์

ในช่วงเวลาการระบาดของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ COVID-19 นี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์และไม่สะดวกสบายของคนทั่วโลก การเว้นระยะห่างทางสังคมรวมถึงการจำกัดการรับการตรวจรักษากลุ่มโรคที่ไม่เร่งด่วนหรือร้ายแรงในโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาวะเจ็บ-ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ (หรือโรคทางกระดูกและข้อ) ก็เป็นอีกกลุ่มอาการ/กลุ่มโรคหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นภาวะที่ไม่เร่งด่วน สามารถที่จะรอได้ เลื่อนนัดได้ หรือสามารถได้รับการตรวจแบบทางไกลได้

แต่ใช่ว่าทุกโรคทางกระดูกและข้อจะเป็นเรื่องไม่ฉุกเฉินหรือไม่เร่งด่วนไปเสียทั้งหมด อาการบางอย่างอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกถึงโรคหรือภาวะที่ร้ายแรงที่จะทำให้การดูแลรักษายากขึ้น ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีนัก ส่งผลให้ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการรักษาและพักฟื้นที่นานขึ้น หรืออาจส่งผลให้เกิดความพิการ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้

บทความนี้จะพูดถึงอาการทางกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์)  ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าควรไปพบแพทย์เพื่อรับการซักประวัติตรวจร่างกายว่ามีภาวะหรือกลุ่มโรคที่เร่งด่วน/อันตรายหรือไม่

อาการปวด

อาการปวดเป็นอาการที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน และเป็นอาการที่เตือนให้ร่างกายได้รับรู้ถึงความผิดปกติของส่วนต่างๆ ในร่างกาย เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกือบทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์

ผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หรือผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวด (ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดสะโพก ฯลฯ) ซึ่งส่วนมากเป็นอาการปวดที่เกิดจากความเสื่อม อาการปวดที่เกิดจากการใช้งานหนัก โดยส่วนมากไม่มีอาการรุนแรง และไม่ได้เกิดจากโรคที่ร้ายแรง  แต่ก็ยังมีโรคแรงบางกลุ่มที่จำเป็นต้องให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ภาวะการติดเชื้อในข้อและกระดูก เนื้องอกกระดูก กระดูกหักและข้อเคลื่อน ภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เป็นต้น สำหรับอาการปวดตามแขนขารวมถึงข้อและกระดูก ที่จะบ่งชี้ถึงภาวะที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนได้แก่

อาการปวดที่เกิดขึ้นหลังจากที่เกิดการบาดเจ็บโดยที่อาการเป็นมากขึ้น หรือไม่ดีขึ้นหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง

                เมื่อมีการบาดเจ็บ ถ้าเป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรงของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก อาการจะทุเลาลง ความเจ็บปวดจะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าอาการปวดยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ดีขึ้นแม้ว่าจะได้พักจนเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว แสดงว่าการบาดเจ็บนั้นค่อนข้างรุนแรง อาจมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือมีการแตกหักของกระดูกได้ ดังนั้นเมื่อมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นล้มข้อเท้าพลิก ล้มข้อมือยันพื้น อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ถ้านั่งพักหรือประคบเย็นแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์

อาการปวดที่แตกต่างจากอาการปวดของโรคเดิม

                ในผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อหลายโรค เช่น ข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท เอ็นข้อไหล่อักเสบ ฯลฯ จะมีประสบการณ์การปวดมาก่อน และโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมเหล่านี้มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ เมื่อไรก็ตามที่อาการปวดเป็นมากขึ้น หรือลักษณะอาการปวดแตกต่างจากเดิม มีความเป็นไปได้ว่า โรคเดิมที่เป็นอาจจะรุนแรงขึ้น  หรืออาจเกิดโรคใหม่ที่ทำให้อาการปวดแตกต่างจากเดิม ดังนั้นถ้ามีอาการปวดที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะถ้ามีความรุนแรงมากขึ้นเช่นนี้ ควรรีบมาพบแพทย์

อาการปวดเมื่ออยู่เฉยๆ อาการปวดที่ปวดตลอดเวลาและปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

                โดยทั่วไปอาการปวดที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมหรือการใช้งานที่หนักเกินไปจะมีอาการปวดที่ไม่รุนแรง และสัมพันธ์กับการใช้งาน อาการปวดเกิดขึ้นแม้กระทั่งตอนที่ไม่ได้มีการใช้งานหรืออาการปวดที่เป็นมากขึ้นเรื่อยเรื่อยจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อาจมีสาเหตุมาจากโรคที่ร้ายแรงบางชนิด เช่น การติดเชื้อในกระดูกและข้อหรือเนื้องอกกระดูก 

อาการปวดที่รบกวนการนอนจนกระทั่งตื่นจากการปวด

                โดยปกติอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการใช้งานหรืออาการปวดที่เกิดจากความเสื่อมมักจะดีขึ้นเมื่อได้รับการพักผ่อนและจะไม่รบกวนการนอนในตอนกลางคืน เมื่อไหร่ก็ตามที่อาการปวดรบกวนการนอนจนนอนไม่หลับ หรือตื่นขึ้นมากลางดึกจากอาการปวด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวด             

อาการปวดที่รบกวนการขยับของข้อ ไม่สามารถขยับข้อนั้นๆ ได้

                อาการปวดที่รบกวนการขยับของข้อ เกิดได้จากทั้งสาเหตุที่เกิดในข้อ เช่น มีการอักเสบและน้ำในข้อมาก เยื่อหุ้มข้อบวมมาก และเกิดจากรอบๆ ข้อ เช่น เยื่อหุ้มเอ็นรอบๆ ข้อเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อรอบข้อบาดเจ็บหรืออักเสบรุนแรง ซึ่งควรไปพบแพทย์

อาการปวดที่ทำให้ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้

                อาการปวดตั้งแต่สะโพกลงไปถึงเท้าที่ไม่สามารถลงน้ำหนักได้ ถือว่าเป็นอาการปวดที่มีความรุนแรง อาจมีสาเหตุจากโรคเดิมที่มีความรุนแรงมากขึ้น หรืออาจเกิดจากโรคหรือภาวะอื่นที่มีความร้ายแรงกว่า ควรรีบไปพบแพทย์

อาการปวดที่มีการปวดร้าวไปตามแขนขา และมีอาการชาหรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

                อาการปวดร้าวตามแขนขา ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอาการที่บ่งชี้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการรบกวนเส้นประสาท ถ้าเกิดร่วมกับอาการปวดคอ หรือปวดหลัง อาจบ่งชี้ถึงการกดเส้นประสาทหรือไขสันหลังบริเวณนั้นได้ ถ้าเกิดร่วมกับการปวดแขนขา อาจเกี่ยวข้องกับการถูกกดทับของเส้นประสาทส่วนปลาย

อาการปวดร่วมกับคลำได้ก้อนในบริเวณที่ปวด

                แม้ว่าการปวดร่วมกับการคลำได้ก้อนแข็งบริเวณที่ปวดจะคล้ายกับกลุ่มอาการกล้ามเนื้อเกร็งตัวจากการใช้งานหรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม แต่ถ้าก้อนนั้นค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้อยู่ตามตำแหน่งกล้ามเนื้อที่ใช้งานมาก อาจจะเป็นอาการแสดงของการติดเชื้อ หรือเนื้องอกของกระดูก หรือเนื้อเยื่ออ่อนได้ ดังนั้นถ้ามีอาการปวดร่วมกับคลำได้ก้อนที่มีลักษณะดังกล่าวจึงควรไปพบแพทย์

อาการปวดอย่างรุนแรงที่ร่วมกับมีไข้ และ/หรือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

                อาการ ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด การร่วมที่เกิดขึ้นในกรณีที่เจ็บป่วยเป็นโรคที่ค่อนข้างรุนแรงดังนั้นถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการปวดตามกระดูก ข้อ หรือกล้ามเนื้อแขนขาหรือหลังควรรีบมาพบแพทย์

อาการปวดที่เกิดขึ้นมาใหม่ในผู้ที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งมาก่อน

                สำหรับผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งชนิดใดก็ตามมาก่อน ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างการรักษาหรือรักษาหายแล้ว แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็มีโอกาสที่จะมีการกลับมาเป็น หรือมีการแพร่มาที่กระดูกได้ ดังนั้นอาการปวดที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรมาพบแพทย์ได้รับการตรวจร่างกาย และตรวจภาพถ่ายรังสี เพื่อยืนยันว่าเกิดจากภาวะแพร่มาที่กระดูกหรือไม่

                ถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติ คงเป็นไปได้ยากที่อาการปวดร่วมกับอาการผิดปกติเหล่านี้จะถูกมองข้าม และผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยและการักษาอย่างเหมาะสมได้ทันท่วงที แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แบบนี้ ทำให้อาการบางอย่างอาจถูกมองข้ามไป และทำให้การวินิจฉัยล่าช้าลงไป บทความนี้น่าจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยในการให้ข้อมูลเบื้องต้นในการประกอบการพิจารณามาพบแพทย์ในช่วงเวลาแบบนี้

                อนึ่ง อาการที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้ไม่ได้ยืนยันว่าผู้ที่มีอาการจะเป็นโรคร้ายแรง 100% แต่เป็นตัวคัดกรองเบื้องต้นเพื่อให้มาพบแพทย์เท่านั้น

อ.นพ.ประกฤต สุวรรณปราโมทย์
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

กระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุน

 

น.ต.นพ.ธนัตถ์  วัลลีนุกุล

กองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

     โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่กระดูกมีความหนาแน่นและความแข็งแรงลดลง ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป โดยพบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

     ตำแหน่งของกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนที่พบบ่อย ได้แก่ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกแขนส่วนปลาย โดยกระดูกสะโพกหักจะทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง เกิดความพิการ และมีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม

     สำหรับกระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุน เป็นกระดูกหักที่เกิดจากโรคกระดูกพรุนที่พบได้บ่อยที่สุด อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ โดยเฉพาะในกรณีที่การหักยุบนั้นไม่มากจนเกิดหลังค่อมกว่าคนทั่วไป แต่ในบางรายจะมีอาการปวดรุนแรง และไม่สามารถลุกขึ้นนั่งหรือยึนได้ ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้โดยภาพถ่ายรังสีของกระดูกสันหลังระดับอกและระดับเอว
     ภายหลังการเกิดกระดูกสันหลังหักยุบลง จะทำให้หลังโก่งงอหรือกระดูกหลังคด ปริมาตรของช่องท้องและช่องทรวงอกลดลง มีผลทำให้ท้องอืดแน่นและหายใจลำบาก นำมาซึ่งการเกิดความพิการและการลดทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในการรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุน อาจพิจารณาได้เป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ การรักษาแบบไม่ผ่าตัด และ การรักษาแบบผ่าตัด เป็นต้น
     เป้าหมายของการรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือ การลดความเจ็บปวด ได้แก่ การนอนพัก การให้ยาแก้ปวด การใช้กายอุปกรณ์สำหรับกระดูกสันหลัง การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น

     การรักษาแบบผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่การรักษาแบบไม่ผ่าตัดดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล หรือมีอาการของการกดทับเส้นประสาท โดยวิธีการรักษาแบบผ่าตัดซึ่งเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ได้แก่ การฉีดซีเมนต์โดยเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปในกระดูกสันหลังเพื่อรักษากระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุน และการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อรักษาการกดทับเส้นประสาทร่วมกับการใส่โลหะยึดตรึงกระดูกสันหลังเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง
ในผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุน ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำในอนาคต โดยทานแคลเซียม และ วิตามินดี ให้เพียงพอ ทานยารักษาโรคกระดูกพรุนอย่างสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญในการป้องกันการหกล้มในอนาคตด้วย

 

ผู้มีส่วนร่วม